คปภ.ศึกษาการยกร่างกฎหมายประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) เสริมระบบประกันสุขภาพภาคบังคับที่เป็นกลไกของรัฐ ปลดล็อคความลักลั่นประกันภัยสุขภาพในธุรกิจประกันชีวิต-ประกันวินาศภัย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.ได้เปิดการประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอข้อมูล แนวทางการศึกษาวิจัยและแผนการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฎหมาย รวบรวมข้อมูล รวมทั้งวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพ จากผู้แทน กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อนำไปสู่การยกร่างกฎหมายเฉพาะประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ)
“ระบบประกันภัยสุขภาพมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนและการบริหารจัดการด้านสุขภาพในระดับมหภาคของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา คปภ.ได้ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกันภัยที่สนับสนุนการรักษาสุขภาพ การประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ Long-Term Care Product และ Remote Treatment รวมทั้งผลักดันการประกันภัยสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance)
ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม ด้วยการส่งเสริม
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัย”
โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนในกลุ่มธุรกิจ Value Chain ของสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล การจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ การนำระบบประกันภัยสุขภาพภาคเอกชนเสริมเติมสิทธิค่ารักษาพยาบาลให้กับระบบหลักประกันภัยสุขภาพ 3 ระบบหลัก คือระบบหลักประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
จากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพในทุกมิติ ส่งผลทำให้เบี้ยประกันภัยสุขภาพ มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากเบี้ยประกันภัยสุขภาพ (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) ในปี 2561 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 82,735 ล้านบาทบาท ในปี 2562 มีเบี้ยประกันสุขภาพรวมทั้งสิ้น 91,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,723 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.54% และเมื่อเปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยสุขภาพในไตรมาสแรกของปี 2562
มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 23,832 ล้านบาท กับไตรมาสแรกของปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 29,408ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,575 ล้านบาท คิดเป็น 23.40%
อย่างไรก็ตามการผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายแม่บทที่เกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) หรือพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) เนื่องจากปัจจุบันไทยมีพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพเดี่ยว (stand – alone) ได้จากบริษัทประกันวินาศภัย แต่หากซื้อประกันภัยสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต จะต้องซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตเท่านั้น ทำให้เกิดความ “ลักลั่น” ของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ประชาชนเกิดความสับสน และเป็นข้อพิพาทร้องเรียนมายัง คปภ.อยู่เนืองๆ
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและเพิ่มประสิทธิภาพรวมถึงยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน คปภ.จึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ รูปแบบการประกันภัยสุขภาพและมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย, เดนมาร์ก, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี, ไต้หวัน เพื่อให้เห็นภาพรวมข้อดีข้อเสียของระบบประกันภัยสุขภาพ อันจะนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อกฎหมายในมิติต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือเข้าไปเสริมระบบประกันสุขภาพภาคบังคับที่เป็นกลไกของรัฐ โดยกฎหมายเฉพาะฉบับนี้จะมีบทบาทหลัก 2 ประการคือ
- ประการแรก ช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) อย่างเป็นธรรม โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
- ประการสอง ช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพและเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบัน โครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น
ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น โดยภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ มีผลกระทบทั้งในส่วนของประชาชนและรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ
ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงผู้สูงอายุ อาจไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและเพียงพอ กฎหมายประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) จึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประชาชนและภาครัฐ
"สุขภาพ" - Google News
August 20, 2020 at 06:08PM
https://ift.tt/31dKlE8
คปภ.เดินเครื่องยกร่าง "กฎหมายประกันสุขภาพ" ภาคสมัครใจ - ประชาชาติธุรกิจ
"สุขภาพ" - Google News
https://ift.tt/2TYvbic
No comments:
Post a Comment