ธุรกิจประกันชีวิตเปิดศึกชิงเบี้ยสุขภาพ ชง คปภ.ขอปรับลดทุนประกันขั้นต่ำกรมธรรม์หลักเหลือ 1 พันบาท เพื่อเปิดทางขายประกันสุขภาพได้เพิ่มขึ้น คปภ.โยน 2 สมาคมถกหาข้อตกลงกันให้ได้ก่อน ฟากนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยชี้ควรยึดหลักการเบี้ยกรมธรรม์หลักประกันชีวิตไม่ควรน้อยกว่าเบี้ยความคุ้มครองเสริม แนะธุรกิจประกันชีวิตขยายกิจการทำธุรกิจประกันวินาศภัยแทนเป็นทางออกที่ดีกว่า
แหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมประกันชีวิตไทยได้เสนอให้ คปภ.พิจารณาปรับลดจำนวนเงินเอาประกันภัย หรืทุนประกันภัยขั้นต่ำในกรมธรรม์ประกันชีวิต(สัญญาหลัก) ให้เหลือ 1,000 บาท จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50,000 บาท เพื่อเปิดทางให้ลูกค้านำเงินที่จ่ายเบี้ยคุ้มครองชีวิตไปซื้อทุนสัญญาเพิ่มเติมที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการรับประกันสุขภาพในอนาคต อย่างไรก็ดี เนื่องจากกรณีดังกล่าวจะมีผลกระทบในเชิงธุรกิจกับฝั่งประกันวินาศภัยด้วย ทาง คปภ.จึงอยากให้มีการตกลงกันให้ได้ก่อน
“ถ้าลดทุนประกันลงมา ธุรกิจประกันชีวิตจะขายประกันสุขภาพได้มากขึ้น เพราะบริษัทประกันชีวิตมีตัวแทน อาจจะเสนอขายได้ดีกว่าบริษัทประกันวินาศภัย แต่บริษัทประกันวินาศภัยที่ทำธุรกิจรับประกันสุขภาพอย่างเดียว อาจจะตายหมด การแข่งขันก็ไม่เกิด ถูกผูกขาด ดังนั้น ยังไม่ได้มีข้อยุติ ทั้งนี้ คปภ.มองว่าเรื่องนี้ทั้ง 2 ธุรกิจ ต้องคุยกันก่อน เพราะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ”
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของธุรกิจประกันชีวิตในเรื่องการลดทุนประกันในกรมธรรม์หลัก อาจจะไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันทุนประกันถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว ซึ่งโดยหลักการแล้ว เบี้ยในส่วนกรมธรรม์หลักไม่ควรจะน้อยกว่าเบี้ยที่เป็นความคุ้มครองเสริม ดังนั้น คิดว่า คปภ.คงจะไม่อนุญาตให้ลดทุนประกันดังกล่าว
ทั้งนี้ หากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเข้าถึงการประกันสุขภาพในอนาคตบริษัทประกันชีวิตควรจะใช้วิธีการขยายทำธุรกิจประกันวินาศภัยเพิ่มเติมแทนจะดีกว่า
“เรื่องนี้ติดอยู่ที่ข้อกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ คปภ.กำลังผลักดันร่างพระราชบัญญัติการประกันสุขภาพให้อยู่แล้ว และตามกฎหมายประกันชีวิต ต้องประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตเป็นหลัก โดยที่ผ่านมาก็เปิดโอกาสให้ขายประกันสุขภาพแนบสัญญาหลักได้”
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหากเกิดขึ้นได้จริง เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมประกันชีวิตก็มีสัดส่วนการขายสินค้าประกันสุขภาพอยู่แล้วกว่า 80% ของพอร์ตสินค้าประกันสุขภาพทั้งระบบ และค่อนข้างมีผลิตภัณฑ์และเครือข่ายโรงพยาบาลที่ครอบคลุม โดยช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เบี้ยรับรายใหม่ของพอร์ตประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (ไม่รวมประกันกลุ่ม) ของบริษัทมีอัตราการเติบโตสูงถึง 35% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าถึงสิ้นปีจะยังคงเติบโตได้ตามเป้าที่ 99%
แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย กล่าวว่า หากผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและเข้าถึงประชาชนจริง ๆ ทางการก็ควรเปิดกว้าง โดยขณะนี้ต้องยอมรับว่า แนวโน้มประกันสุขภาพมาแรง ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตมีตัวแทนขายกว่า 3-4 แสนคน น่าจะเสนอขายได้ง่ายกว่า ในขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยไม่ค่อยได้บุกตลาดนัก ซึ่งหากทำแต่ตลาดประกันสุขภาพอย่างเดียวก็คงไปไม่รอด เนื่องจากมีการแข่งขันตัดราคากันเอง แต่ก็ถือเป็นกลไกตลาด หากใครไม่แข็งแรงก็ต้องออกจากสนามรบไป
“ประกันวินาศภัยต้องปรับตัวให้สอดรับ new normal คือต้องมีความหลากหลายในการแข่งขัน แทนที่จะไปกระจุกตัวในพอร์ตรถยนต์ ต้องไปสร้างความเชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพหรือประกันรายย่อยอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ดี ในมุมหน่วยงานที่กำกับ ก็คงกลัวว่าหากมีบริษัทเจ๊งขึ้นมาจะกระทบความเชื่อมั่นตลาด จึงสนับสนุนการควบรวมกิจการหรือเปลี่ยนผู้ถือหุ้นที่แข็งแรงเข้ามาบริหารแทน”
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยที่ทำธุรกิจเฉพาะประกันสุขภาพ มีอยู่ประมาณ 4 ราย ได้แก่ 1.บมจ.แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ 2.บมจ.เอ็ทน่าประกันสุขภาพ 3.บมจ.ไทยประกันสุขภาพ และ 4.บมจ.กรุงเทพประกันสุขภาพ (บริษัทในเครือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS)
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยทั้งหมด (combined ratio) ของธุรกิจประกันสุขภาพรายกลุ่มทะลุ 100% ไปแล้ว แต่ประกันสุขภาพรายเดี่ยวยังเฉลี่ยที่ 80-90% หรือเกือบอยู่ไม่ได้ ซึ่งหากเปิดให้ธุรกิจประกันชีวิตเข้ามาแข่ง ก็อาจจะทำให้ลิมิตวงเงินคุ้มครองเพิ่มขึ้น เพราะแข่งขันกันมากขึ้น
"สุขภาพ" - Google News
July 01, 2020 at 08:43PM
https://ift.tt/2VAUbNa
ประกันเปิดศึกชิงเบี้ยสุขภาพ คปภ.ไม่กล้าเคาะโยน 2 สมาคมตกลงกัน - ประชาชาติธุรกิจ
"สุขภาพ" - Google News
https://ift.tt/2TYvbic
No comments:
Post a Comment