ปัญหาบางปัญหาเราสามารถแก้ไขด้วยตัวเราเองได้ แต่บางปัญหา เช่น โควิด– 19 อยู่นอกเหนืออำนาจของเราที่จะแก้ไขได้ ก็ต้องอาศัยผู้รู้ ผู้มีอำนาจชี้แนะ เช่น คณะแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขา หรือรัฐบาล พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาคเอกชนในธุรกิจสำคัญ ๆ เช่น ธุรกิจอาหารฯ แล้วสรุปเป็นข้อเสนอแนะให้ประชาชนปฏิบัติตาม ส่วนเราต้องขยันและพากเพียร ในด้านติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้แล้วนำไปปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเรา
เนื่องจากโควิด–19 เป็นโรคใหม่ เป็นไวรัสตัวใหม่จะต้องอาศัยพึ่งพาการศึกษา
ใหม่ ๆ ขององค์การผู้ชำนาญการในแต่ละประเทศที่มีโรคนี้ระบาดอยู่ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เฝ้าติดตามสรุปผลรวมให้ชาวโลกทราบด้วย
อาจารย์ นายแพทย์ธีระ ลีลานันทกิจ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเห็นว่า เราจะอยู่กับโควิด–19 ได้โดยมีสุขภาพจิตดีและไม่เป็นโรคนั้น เราต้องใช้การปรับตัวอย่างมีสติสัมปชัญญะในการดูแลตนเอง และครอบครัว ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตควบคู่กันไป
ช่วงนี้เป็นช่วงปลดล็อกดาวน์จากการระบาดระยะที่ 4 ซึ่งผ่านมาได้ด้วยดีจากความร่วมมือร่วมใจ สามัคคีในการปฏิบัติตามคำแนะนำ ตั้งการ์ดสูง สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างกัน (Social + Physical Distancing) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ สบู่ รับประทานอาหารร้อน มีช้อนกลางส่วนบุคคล ฯลฯ จนผ่านพ้นการระบาดมาได้หลังคลายล็อกมาแล้ว 3 ระยะ ขณะนี้ เรากำลังเข้าสู่ระยะการเฝ้าระวังการระบาดรอบ 2 (ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ) และพบว่า ส่วนใหญ่มักจะรุนแรงกว่าการระบาดรอบแรก แต่ก็ไม่ต้องกลัวมากเกินไปจนกลายเป็นความเครียด และก็ไม่ควรชะล่าใจ อย่ารวน อย่าประมาท อย่าลดการ์ดต่ำ ต้องช่วยกันปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลต่อไป อดทนอีกนิดนะครับ เราจะได้หยุดโควิด–19 ได้รวดเร็วขึ้นไม่ยืดเยื้อ จะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ถ้าคิดได้ทำใจได้ตามนี้เราก็ไม่วิตก ไม่เครียด สุขภาพจิตดี
ช่วงวิกฤติโควิด–19 ที่สำคัญที่สุดคือ เอาชีวิตรอดให้ได้ก่อน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
ต้องตระหนักรู้ แต่ไม่ตื่นตระหนก ซึ่ง การตระหนัก คือ ให้รู้แจ้งชัดโดยติดตามข่าวโควิด–19 วันละสองเวลา จากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้จากการรายงานข่าวทางโทรทัศน์ที่เสนอข่าวโดยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเราเข้าใจถูกต้องและนำไปปฏิบัติ ก็จะเกิดผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ แต่ ไม่ตื่นตระหนก หมายถึง ไม่เกิดความกลัวอย่างมากเกิดขึ้นมาทันที ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น กลัวว่าตนเองจะตาย ความกลัวนี้จะกระตุ้นให้เกิดความกลัวขึ้นมาอีก เกิดความตื่นตระหนกเต็มรูปแบบ
ให้สร้างความหวัง โดยให้กำลังใจแก่ตนเอง และผู้อื่น รวมทั้งยอมรับการให้กำลังใจมาจากผู้อื่นด้วย
ให้ส่งเสริมสุขภาพจิต ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่ตนเอง เพื่อลดความเครียด ทำให้สุขภาพจิตดี ประกอบด้วยการดูแลสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
ทางร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ในเวลาโอกาสและวิธีการที่เหมาะสำหรับแต่ละท่าน 20-30 นาทีต่อวัน และขอให้ตั้งใจทำเป็นประจำ
ทางจิตใจ พูดคุยกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเท่าที่จะพูดได้ ไม่แยกตัวอยู่คนเดียว หาทางที่จะเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอ แย่กว่าเรา
ทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน พกผ้าเช็ด หน้าจะได้ใช้เช็ดหน้าตาถ้าจำเป็น ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เชื่อว่าเป็น ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งต้องเข้าใจและใช้การปรับตัวที่ดี เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย การรักษาระยะห่างทางสังคมก็เพื่อไม่ให้ไวรัสโควิด–19 เข้ามาสู่หน้า ตา จมูก ปาก ของเราได้
อยู่บ้านทำงานบ้านได้ทุกเพศทุกวัย โดยไม่ต้องรอให้เรียกไปสัมภาษณ์แล้วเข้าทำงาน การทำงานบ้านทำให้คนที่ทำรู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์เกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งถือว่า เป็นการทำงานทางด้านจิตใจที่ดี (psychological work)
หากิจกรรมสนุกสนานทำ เช่น ฟังเพลง ร้องเพลง ฮัมเพลง วาดรูป รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น สลับกับการหาความรู้เรื่อง (COVID–19) โควิด-19 เพื่อเข้าใจและหลีกเลี่ยงได้อย่างเหมาะสม
ทางจิตวิญญาณ ใช้หลักธรรมะของพระพุทธเจ้ามาคิดมาปฏิบัติอย่างง่าย ๆ เช่น ยึดหลักตนแลเป็นที่พึ่งของตน มีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ปรุงแต่งต่อสิ่งที่รับรู้ ยึดหลักเกิดขึ้นคงอยู่ดับไป (โควิด – 19 มาแล้วก็ต้องดับต้องหมดไป) ความสุขใดเหนือความสงบไม่มี ใช้ชีวิตอย่างพรหม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สวดมนต์สั้น ๆ ถ้าจะนั่งสมาธิต้องมีครูชี้แนะ เป็นต้น
ใช้อารมณ์ขัน ตื่นเช้าขึ้นมานั่งขอบเตียง หายใจเข้า-ออกช้า ๆ ถ้ายังหายใจได้คล่อง ไม่มีไข้ ก็บอกกับตัวเองว่า “โอ้เราโชคดี เรารอดตายจากโควิด–19 มาได้อีกวันแล้ว” ช่วงนี้ มีอะไรให้คิดมีอะไรให้ทำให้ต้องปรับตัว จะได้ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ง่าย เป็นต้น
ช่วงนี้ การใช้จ่ายต้องประหยัดและถ้ามีเงินเหลือบ้างก็ต้องเก็บออมไว้ไม่ว่าจะเหลือน้อยหรือมาก ข้อสำคัญอย่าสร้างหนี้ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานแก่พวกเรา
เมื่อโควิด–19 ผ่านไปแล้วร่างกายและจิตใจอันดีงามของเราพร้อมสมบูรณ์ ก็จะได้ลุยงานกันต่อไป เงินเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ตายหาใหม่ได้
เมื่อเรามีความเข้าใจปฏิบัติตัวได้ดี มีอารมณ์ดีทำงานได้อย่างสบาย พอใจต่อผลสำเร็จตามนิสัยของตน ถือว่ามีสุขภาพจิตดี ประกอบกับการมีภูมิต้านทานทางร่างกายแข็งแรง ก็ไม่ต้องแปลกใจว่า เราจะร่วมกันผ่านพ้นวิกฤติโควิด–19 นี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน
เมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด–19 และมียารักษาแล้ว โควิด–19 ก็จะหายไปจากการระบาดกลับกลายมาเป็นโรคสามัญประจำโลกนี้
ต่อไป
เรามาถูกทางแล้วครับ อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน พกผ้าเช็ดหน้า ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่าง กลับบ้านแล้วต้องอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้ง และติดตามข่าวสารที่ถูกต้องเชื่อถือได้ แล้วช่วยกันปฏิบัติตาม
พวกเราทุกคนต่างเป็นพระเอก ไม่ว่าจะเป็นนักรบแนวหน้าหรือนักรบแนวหลัง ต่างก็ต้องช่วยกันดูแลตนเองช่วยกันให้กำลังใจ ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งอย่าลืมชมตัวเราเองให้กำลังใจแก่ตนเอง แก่ครอบครัว และคนรอบข้าง เพื่อจะได้อยู่กับ
โควิด–19 ได้อย่างสุขภาพจิตดีไม่มีโรค
ข้อสำคัญ อย่าชะล่าใจ อย่าประมาทครับ
ขอให้ทุกท่าน ทุกคน โชคดี ปราศจากโรคโควิด–19 เฮง เฮง รวย รวย ครับ
ข้อมูลจาก นายแพทย์ธีระ ลีลานันทกิจ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
----------------------------------------
นายแพทย์สุรพงศ์ อำาพันวงษ์.
"สุขภาพ" - Google News
June 28, 2020 at 08:30AM
https://ift.tt/2BibX0z
'อยู่กับโควิด–19 อย่างไร จึงมีสุขภาพจิตดีและไม่เป็นโรค' - เดลีนีวส์
"สุขภาพ" - Google News
https://ift.tt/2TYvbic
No comments:
Post a Comment